Menu Close

พิธีส่งมอบผังแม่บทสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ รพ.สมเด็จพระยุพราช

พิธีส่งมอบผังแม่บทสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ รพ.สมเด็จพระยุพราช

กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตร ส่งมอบผังแม่บทโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ดึงภาคีสถาปนิก บุคลากรสาธารณสุขและชุมชน สร้างผังแม่บทแบบมีส่วนร่วม สู่ต้นแบบการพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาล.

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธีส่งมอบผังแม่บทสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ร่วมกับหน่วยงานหลักอีก 4 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช, กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง ผ่านการออกแบบ ‘ผังแม่บท’ ระยะต่าง ๆ เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลอย่างมีแบบแผน รองรับการขยายตัวและสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต .

โครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีสถาปนิกจำนวน 12 แห่ง แบ่งความรับผิดชอบตามภูมิศาสตร์ที่ตั้งของโรงพยาบาล จากนั้นลงพื้นที่เพื่อสำรวจดูข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าพื้นที่หลายส่วนโรงพยาบาลไม่เอื้อต่อสุขภาวะ รองรับการใช้งานได้ไม่เพียงพอและยังขาดการวางแผนในระยะยาว ท่ามกลางบริบทชุมชนที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรโรงพยาบาล ผู้เข้ามาใช้บริการและคนในชุมชน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาและความต้องการในฐานะผู้ใช้งานจริง นำไปพัฒนาผังแม่บทโรงพยาบาล ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สู่การเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ เอื้อต่อการใช้ชีวิตและสร้างความอยู่ดีมีสุข เจ้าหน้าที่ทำงานได้ดีและมีความสุข ผู้เข้ารับบริการไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยและญาติ ได้รับความสะดวกสบาย โรงพยาบาลมีสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดปัจจัยต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเครียด ช่วยคลายความวิตกกังวล และยังสะท้อนเอกลักษณ์ชุมชนนั้น ๆ ด้วย.

“ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน สามารถสรุปผังแม่บทจำนวน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น (พ.ศ. 2563 – 2565) ระยะกลาง (พ.ศ. 2565 – 2569) และ ระยะยาว (พ.ศ. 2569 – เป็นต้นไป) แตกต่างกันไปตามวิสัยทัศน์ ทิศทางการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ของแต่ละพื้นที่ และบริบทเฉพาะถิ่น ควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเชิงกายภาพ ที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะของ ผู้ป่วย ชุมชน บุคลากร และ มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทางกายภาพตามระดับขีดความสามารถของแต่ละโรงพยาบาล .

ทางคณะผู้ดำเนินการโครงการคาดหวังว่าผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนผังแม่บท ไปสู่การปฏิบัติใช้จริงในแต่ละเขตสุขภาพ และสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบหรือแนวปฏิบัติที่ดีของการปรับปรุงและใช้ผังแม่บทที่มีชีวิตชีวา สร้างสังคม และชุมชนสุขภาวะ ให้สามารถจัดการตนเองได้ มีความเข้มแข็ง และตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สรนาถ สินอุไรพันธ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะกล่าว.

นอกจากนี้การดำเนินโครงการของกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ ได้สร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายสถาปนิกทั่วประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ในแวดวงการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงไปกับสุขภาวะของสถานพยาบาล พร้อมทั้งกำหนดทิศทางการพัฒนาและแผนบริการของโรงพยาบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถต่อยอดเป็นต้นแบบของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างในโรงพยาบาลอื่น ๆ ได้ต่อไป