หากพูดถึงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ น้องๆ ก็คงรู้จักหลายมหาวิทยาลัย แต่ถ้าพูดถึงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ออกแบบและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องนึกถึง “สถาปัตย์เกษตรฯ” (AKU) หรือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นั่นเองค่ะ ที่นี่เปิดสอนมาแล้วกว่า 25 ปี มีการผสมผสานระหว่างความสร้างสรรค์กับองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ทำความรู้จักคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ หรือ สถาปัตย์เกษตรฯ

 

                                                                                ทำความรู้จักคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ หรือ สถาปัตย์เกษตรฯ

วันนี้พี่มิ้นท์จะพาน้องๆ มาเจาะลึก สถาปัตย์เกษตรฯ ว่าที่นี่เปิดสอนสาขาอะไรบ้าง แต่ละสาขาแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่ใครมีแผนอยากเรียนคณะนี้อยู่แล้ว แต่ยังลังเลสาขากันอยู่ ก็สามารถตัดสินใจกันได้หลังอ่านบทความนี้^^  

ในปัจจุบัน คณะสถาปัตย์เกษตรฯ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 4 หลักสูตร ได้แก่

  1. หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สถ.บ.)
  2. หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (ภ.สถ.บ.)
  3. หลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม (วท.บ. (สถาปัตยกรรม))
  4. หลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ (วท.บ.)

เราลองไปดูรายละเอียดของแต่ละหลักสูตรกันค่ะ ว่าเรียนอะไร และจบไปแล้วไปเป็นอะไรได้บ้าง

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต Bachelor of Architecture
ภาควิชาสถาปัตยกรรม  หลักสูตร 5 ปี

 
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

 

                                                                                                             หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

หรือที่เรียกกันในชื่อสั้นๆ ว่า ‘สถาปัตย์หลัก’ สาขานี้เน้นการฝึกฝนการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและความยั่งยืน การเรียนการสอนสอดคล้องกับทิศทางการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานการคิด (Problem-based Learning) มีการทดลองและฝึกปฏิบัติจริง น้องๆ จะได้ฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์

เรียนอะไรบ้าง?

  • ปี 1 ทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในเส้นทางวิชาชีพสถาปนิก โดยเรียนพื้นฐานการออกแบบการนำเสนองานการแสดงแบบและการก่อสร้างเบื้องต้น
  • ปี 2 พัฒนาทักษะการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและบริบทของพื้นที่ ไปพร้อมกับองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และทฤษฎีในการออกแบบสถาปัตยกรรม การออกแบบและก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม และงานระบบประกอบอาคาร
  • ปี 3 พัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในขั้นสูง และเรียนรู้การออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม
  • ปี 4 เตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพสถาปนิก นอกจากการเรียนทฤษฎีและฝึกปฏิบัติการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมขั้นสูงแล้ว น้องๆ จะได้ฝึกงานในองค์กรวิชาชีพอีกด้วย
  • ปี 5 ประมวลผลการเรียนรู้ของนิสิตเพื่อการประกอบวิชาชีพสถาปนิกผ่านการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ในโครงงานวิทยานิพนธ์การออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษา

อาชีพหลังเรียนจบ

  • สถาปนิก หรือ นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ฯลฯ

อ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม

  • หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต คลิก

หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต Bachelor of Landscape Architecture 
ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม  หลักสูตร 5 ปี

หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

 

                                                                                                                 หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘แลนด์สเคป’  หลักสูตรนี้จะเรียนแบบบูรณาการองค์ความรู้กับการปฏิบัติวิชาชีพเข้าด้วยกัน เพื่อที่เมื่อเรียนจบออกไป จะเป็นภูมิสถาปนิกที่เคารพต่อธรรมชาติ สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมเฉพาะของพื้นที่ และรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เรียนอะไรบ้าง?

  • ปี 1 การออกแบบเบื้องต้น การวิเคราะห์จับประเด็น และวิชาพื้นฐานต่างๆ เพื่อความยั่งยืนทางสภาพแวดล้อมและสังคม
  • ปี 2  การออกแบบอาคารขนาดเล็กและการวางผังที่อยู่อาศัย การออกแบบและวางผังโครงการสาธารณะขนาดเล็กในสภาพแวดล้อมที่ไม่ซับซ้อน ตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ปี 3 การออกแบบและวางผังโครงการสาธารณะ ในสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อน เช่น สถานพักตากอากาศ สถาบัน และสวนสาธารณะ สวนสนุก สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง พื้นที่เชิงพาณิชยกรรม ตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ปี 4  การออกแบบเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ที่มีคุณค่าทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม การอนุรักษ์ ปรับปรุง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่เพื่อการเกษตร การออกแบบและวางผังภูมิทัศน์เมือง ภูมิทัศน์ริมน้ำ พื้นที่ประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ในฐานะสาธารณูปโภคของเมือง
  • ปี 5  วิทยานิพนธ์ (Thesis) กระบวนการวิเคราะห์และการกำหนดขอบเขตโครงการที่ศึกษาและออกแบบ การออกแบบ การแสดงผลงานขั้นสุดท้ายและนำเสนอต่อคณะกรรมการตามระเบียบวิทยานิพนธ์

อาชีพหลังเรียนจบ

  • ภูมิสถาปนิก (ต้องผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพ) ผู้ควบคุมงานก่อสร้างทางภูมิสถาปัตยกรรม และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เช่น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักบริหารจัดการงานก่อสร้าง อาจารย์ นักวิจัย นักวางผังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

อ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม 

  • หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต  คลิก

หลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม Bachelor of Science (Architecture) 
ภาควิชานวัตกรรมอาคาร หลักสูตร 4 ปี

 
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม

 

                                                                                                     หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม

เรียกกันในชื่อเล่นว่า ‘นวัตกรรมอาคาร’ หรือ  ‘BBIT (บี-บิท)’  เหมาะกับน้องๆ ที่รักหรือมีแรงบันดาลใจจากอาคารหรือสถาปัตยกรรมประหยัดพลังงาน หลักสูตรนี้น้องๆ จะได้เรียนรู้การสร้างสถาปัตยกรรมเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม เน้นความเข้าใจในเทคโนโลยีที่สามารถพิสูจน์ได้จริงว่างานออกแบบสร้างสรรค์นั้นทำให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาวะที่ดี ช่วยประหยัดพลังงานด้วยการใช้พลังงานจากธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะสามารถทำงานเป็นสถาปนิก ที่ปรึกษาด้านอาคารเขียว ไปจนถึงงานที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมและนวัตกรรมอาคารได้

เรียนอะไรบ้าง?

  • ปี 1 การออกแบบเชิงนิเวศเบื้องต้น การวิเคราะห์จับประเด็น และวิชาพื้นฐานต่าง ๆ
  • ปี 2 ออกแบบสถาปัตยกรรมในเขตร้อนชื้นขนาดเล็กและกลาง
  • ปี 3 ออกแบบสถาปัตยกรรมใช้พลังงานเป็นศูนย์และอาคารเขียวขนาดใหญ่และช่วงกว้าง
  • ปี 4 ออกแบบสถาปัตยกรรมเขียวและเทคโนโลยีนวัตกรรมสำหรับสถาปัตยกรรมเขียวที่เป็นอาคารสูงและการออกแบบระดับย่าน

อาชีพหลังเรียนจบ

  • สถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารเขียว ผู้คิดค้นนวัตกรรมอาคาร หรือ นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ นักบริหารโครงการ ฯลฯ

อ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม 

  • หลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม  คลิก

หลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ 
Bachelor of Science (Integrated Product Design Innovation) หลักสูตร 4 ปี

 
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ

 

                                                                             หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ

เรียกกันในชื่อเล่นว่า ‘IPDI (อิ๊ป-ดี้)’  ใครที่ชอบการออกแบบ แต่ไม่ถนัดออกแบบผัง ออกแบบตึก สาขานี้น่าจะตอบโจทย์น้องๆ ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี หลักสูตรนี้ไม่ได้สอนแค่การออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ยังเน้นการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ทั้งองค์ความรู้ด้านอาหาร การเกษตร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จากภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์กรต่างๆ ภายนอกมหาวิทยาลัย เข้ากับกระบวนการความคิดเชิงออกแบบและสร้างสรรค์ นำทุกอย่างมาประกอบกันและพัฒนามาสู่นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และมีความตระหนักในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เรียนอะไรบ้าง?

  • ปี 1 การพัฒนาแนวคิดทางการออกแบบ การออกแบบเบื้องต้น และวิชาพื้นฐานต่างๆ
  • ปี 2  การออกแบบเพื่อการใช้สอย ความเข้าใจในปัจจัยเกี่ยวกับมนุษย์เพื่อนำมาสู่งานออกแบบ และการออกแบบเพื่อความยั่งยืนเพื่อตอบประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
  • ปี 3  นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการออกแบบ การออกแบบระบบผลิตภัณฑ์และบริการ การจัดการการออกแบบและธุรกิจ
  • ปี 4  ฝึกงานในภาคธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ หรือสหกิจศึกษา และก่อนจบการศึกษา นิสิตจะต้องทำการบูรณาการความรู้ เพื่อสร้างสรรค์เป็นโครงงานนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง

อาชีพหลังเรียนจบ

  • นักออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือทำงานในธุรกิจสร้างสรรค์ต่างๆ

อ่านรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม 

  • หลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ  คลิก 

อาคารเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

                                                                                      อาคารเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ถึงแม้จุดเด่นของสถาปัตย์เกษตรฯ จะมีเนื้อหาทางวิชาการที่เข้มเข้น แต่บรรยากาศของการเรียนการสอนเป็นไปอย่างอบอุ่นใกล้ชิด โดยเฉพาะ “วิชาสตูดิโอ” หรือวิชาปฏิบัติการออกแบบ ที่เป็นวิชาหลักของนักเรียนออกแบบทุกหลักสูตร นิสิตจะต้องค้นคว้าและพัฒนางานออกแบบของตนเอง แล้วเข้ามาปรึกษาและรับฟังคำแนะนำจากอาจารย์เป็นระยะๆ ก่อนที่จะออกมาเป็นผลงานออกแบบแต่ละชิ้น จะมีการ ‘ตรวจแบบ’ ซึ่งการตรวจแบบนี่แหละที่จะได้ใกล้ชิดกับอาจารย์จริงๆ เพราะจำนวนนิสิตในคณะไม่มากจนเกินไปทำให้อยู่กันอย่างอบอุ่นเหมือนครอบครัว นอกจากนี้ นิสิตทุกหลักสูตรจะได้ออกไปศึกษาดูงานนอกมหาวิทยาลัยเป็นประจำ เพื่อเรียนรู้และสร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน ได้ออกไปเห็นและสัมผัสพื้นที่ งานออกแบบ และชุมชนจริงๆ

 

แน่นอนว่า นิสิตคณะนี้ไม่ได้เรียนอย่างเดียว แต่ยังมีกิจกรรมของคณะให้เข้าร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การตีกลอง ซึ่งฝีไม้ลายมือของนิสิตที่นี่ไม่ธรรมดา สมกับที่เป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีค่ายอาสาพัฒนาสถาปัตย์  ที่พี่น้องนิสิตในคณะจะออกค่ายที่ต่างจังหวัด ลงมือออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร หรือ ค่ายอาสาพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ที่นิสิตจะได้เข้าไปสัมผัสกับชุมชุน สำรวจถึงความต้องการของผู้คนในชุมชน แล้วตีโจทย์ออกมาเป็นผลงานทางศิลปะหรือผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ  

 

กิจกรรมต่างๆ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

 

                                                                                         กิจกรรมต่างๆ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

กิจกรรมที่โดดเด่นอีกงาน ก็คือ ARCH FEB FEST ซึ่งนิสิตจะจัดขึ้นปีละครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นงานแฟร์แนวสร้างสรรค์ + คอนเสิร์ต ที่จะแปลงร่างคณะให้กลายเป็นพื้นที่สุดชิค พร้อมกับกิจกรรมสนุกๆ และการแสดงดนตรีดีๆ ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้ด้วย  

 

เป็นยังไงกันบ้างคะ อ่านมาจนถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพตัวเองเข้าไปนั่งเรียนและได้ออกแบบผลงานเด่นๆ ของตัวเองสักชิ้นหรือยัง ถ้าใครอ่านแล้วไฟลุก มีแรงบันดาลใจอยากจะออกแบบหรือสร้างสรรค์ผลงานในสไตล์รักษ์สิ่งแวดล้อม ก็อย่าลืมให้ “สถาปัตย์เกษตรฯ” เป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ  ของน้องๆ นะคะ