การอนุรักษ์และการต้านทานภัยพิบัติของบ้านหลังคาคายะบุกิในฮิเซ็นฮามะชุกุ
ภคพร จีนครุฑ
ฮิเซน-ฮามะชุคุ(Hizen Hamashuku) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์กลุ่มอาคารประวัติศาสตร์สำคัญใน เมืองคาชิมะ จังหวัดซากะ ซึ่งมีลักษณะของสถาปัตยกรรมเรือนแถวในเมือง (Machiya) ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะบ้านหลังคาคายะบุกิ (Thatched roof house) ที่มีลักษณะที่โดดเด่น โดยบ้านลักษณะนี้ในเมืองคาชิมะพบได้ในสองพื้นที่สำคัญของเมือง ได้แก่ บริเวณฝั่งเหนือของแม่น้ำฮามะ (Hama River) ใกล้กับถนนซาคาคุระ (Sakagura-dori) ซึ่งเป็นถนนท่องเที่ยวเส้นหลักของเมือง และในอีกพื้นที่หนึ่ง ได้แก่ บริเวณฝั่งใต้ของแม่น้ำฮามะ หรือ
ฮามะโชซุ (Hamashozu)

โดยบริเวณฝั่งเหนือของแม่น้ำฮามะ จะพบบ้านตระกูลโนริตะ (Norita house) เป็นที่อยู่อาศัยของตระกูล ไซโช ซึ่งเป็นซามูไรเก่าแก่แห่งเมืองคาชิมะ สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ลักษณะเด่นของบ้านคือหลังคาทรงปั้นหยาและมุงด้วยหลังคาคายะบุกิ หรือเรียกว่า คุโดะ-ซึคุริ (Kudo-zukuri) ที่พบเห็นได้ทั่วไปของที่ราบทางตอนใต้ของจังหวัดซากะ และผนังมีสีขาว เข้ากับบริบทของบ้านเรือนในถนนซาคาคุระ ตัวบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างเงียบสงบ เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างมีห้องที่ใช้สำหรับห้องนั่งเล่นและห้องพระ ส่วนชั้นบนใช้สำหรับเก็บของและห้องของเด็ก เพดานชั้นสองทำจากดิน ซึ่งเชื่อกันว่าใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการป้องกันความร้อนสำหรับการเลี้ยงไหม และมีพื้นที่ทำการเกษตรและโดมะ (ตรงกลางระหว่างนอกบ้านและในบ้าน) ที่ค่อนข้างใหญ่ ภายในบ้านมีการออกแบบรายละเอียดของคานทับหลังและธรณีประตูที่บากร่อง เพื่อความสะดวกในการถอดประกอบประตู ทำให้การใช้งานพื้นที่ภายในบ้านสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามความต้องการได้ และภายในบ้านมักมีการออกแบบตู้เก็บของหรือช่องเก็บของที่สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้พื้นที่ช่องว่างในผนังเพื่อเก็บอุปกรณ์หรือสิ่งของต่างๆ เป็นต้น

อีกบริเวณหนึ่งที่พบบ้านหลังคาคายะบุกิ คือ บริเวณฝั่งใต้ของแม่น้ำฮามะ หรือพื้นที่ฮามะโชซุ (Hamashozu) ที่ในอดีตเป็นย่านของพ่อค้าและช่างฝีมือ เช่น ช่างตีเหล็ก ช่างไม้ และช่างทำเครื่องปั้นดินเผา ฟังก์ชันของบ้านจึงมักถูกออกแบบเพื่อรองรับทั้งการอยู่อาศัยและการทำงานในที่เดียวกัน พื้นที่นี้มีลักษณะเด่นคือเป็นตรอกซอกซอยแคบ เรียงรายไปด้วยบ้านหลังคาคายะบุกิสามหลังติดกัน ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ยังคงบ้านหลังคาคายะบุกิหลงเหลืออยู่มาก
บ้านหลังคาคายะบุกิ จะใช้หญ้าแพมพัส (Pampas Grass) หรือที่รู้จักในชื่อหญ้าภูเขา และในญี่ปุ่นเรียกว่า ซูซูกิ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cortaderia Selloana เป็นวัสดุมุงหลังคา หลังคามีขนาดค่อนข้างสูงโปร่ง ทรงปั้นหยา แปลนของหลังคามีลักษณะคล้ายตัวอักษร ユ (Yu) ในตัวอักษรคาตาคานะ โดยมีบางส่วนของโครงสร้างยื่นออกมา ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของหลังคาคายะบุกิ หรือที่เรียกว่า คุโดะ-ซึคุริ (Kudo-zukuri) และหลังคาในรูปแบบนี้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันความร้อนในฤดูร้อนและเก็บความอบอุ่นในฤดูหนาว ทำให้เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศญี่ปุ่น ในปัจจุบันบ้านลักษณะนี้หาได้ยาก เนื่องจากต้องการการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ได้สูง ดังนั้นในเมืองนี้จึงมีระบบพ่นน้ำเพื่อป้องกันไฟ และมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังมีโครงการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อซ่อมแซมและบูรณะบ้านเก่าในเขตอนุรักษ์นี้ เพื่อคงความดั้งเดิมของเมืองไว้

ในการบรรยายเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติของศาสตราจารย์ ดร.Osamu Goto จากมหาวิทยาลัยโคกาคุอิน ได้บรรยายถึงเรื่องระบบป้องกันไฟของบ้านหลังคาคายะบุกิ โดยมีทั้งการติดตั้งหัวดับเพลิงไว้บริเวณใกล้กับพื้นที่อยู่อาศัย และจำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการติดตั้ง Smoke detectorไว้ใต้หลังคาของบ้านหลังเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการไฟไหม้ โดยมีการยกตัวอย่างเรือนแถวในเมืองแบบดั้งเดิมซึ่งมีด้านหน้าที่แคบและมีด้านยาวที่ลึก ทำให้ยากที่จะใช้พื้นที่ด้านหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพื้นที่อยู่อาศัยมักจะอยู่ด้านหลัง ทำให้มีโอกาสไฟไหม้ได้สูง และยกตัวอย่างเมืองอิวะมุระ จังหวัดกิฟุที่มีการติดตั้งหัวดับเพลิงที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่ด้านหลังของที่อยู่อาศัย ซึ่งลักษณะภายนอกของหัวดับเพลิงนั้น มีรูปทรง การเลือกใช้สีและการใช้วัสดุที่กลมกลืนกับภูมิทัศน์ของเมือง

อีกหนึ่งภัยพิบัติที่ให้ความสำคัญ คือ แผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่พบได้มากในประเทศญี่ปุ่น โดยบรรยายถึงการถ่ายแรงของบ้านที่อยู่ติดกัน ซึ่งสามารถช่วยลดแรงสั่นสะเทือนซึ่งกันและกันได้ ยกตัวอย่างการเสริมแรงของบ้านเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว เช่น การเสริมแรงด้วยครีบเสาหรือผนังและการเสริมความแข็งแรงในแนวนอนให้กับพื้นและเพดาน เป็นต้น และยกตัวอย่างความเสียหายของบ้านเรือนจากแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้น เช่น ในปี 2016 ได้พบความเสียหายของพื้นบ้านเรือนแถว ที่จังหวัดคุมาโมโต
** ส่วนหนึ่งของโครงการ “Training Program on Comprehensive Design for Sustainable Preservation and Utilization of Disaster-Resilient Historic Townscapes” ระหว่างวันที่ 4–10 มีนาคม พ.ศ.2568 ณ ชุมชนฮิเซ็นฮามะชุกุ เมืองคาชิมะ จังหวัดซากะด้วยความร่วมมือระหว่าง Saga University, Cartage University, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, Eindhoven University of Technology ได้รับทุนเต็มจำนวนจำนวนจาก JST และ KUSCI สำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ