Menu Close

Sakagura-dōri ถนนซาคาคุระ ถนนสายประวัติศาสตร์สาเกแห่งจังหวัดซากะ

Sakagura-dōri ถนนซาคาคุระ ถนนสายประวัติศาสตร์สาเกแห่งจังหวัดซากะ

ศศิมา ชัยชูลี

ถนนซาคาคุระ หรือ Sakagura-dori (酒蔵通り) ตั้งอยู่ในย่านฮิเซนฮามาชูคุ เมืองคาชิมะ จังหวัดซากะ เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่ทอดยาวประมาณ 600 เมตร  ถนนสายนี้เรียงรายไปด้วยโรงสาเกและร้านค้าจำหน่ายสาเก จึงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งจากญี่ปุ่นและต่างประเทศ โดยถนนนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “เขตอนุรักษ์กลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ที่สำคัญ” (Important Preservation District for Groups of Traditional Buildings) โดยรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม

ในช่วงยุค เอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของโชกุนโตกุกาวะ ซึ่งบังคับใช้กฎหมาย ซังกินโคไต (Sankin-Kotai) หรือ “ระบบการเข้าเฝ้าสลับปี” กำหนดให้ไดเมียว (เจ้าแคว้น) จากทั่วประเทศต้องเดินทางไปพำนักที่เอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ทุก ๆ ปีเว้นปี โดยต้องมีขบวนติดตามจำนวนมาก การเดินทางเหล่านี้ก่อให้เกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ และนำไปสู่การเติบโตของเมืองพักแรม (Shukuba-machi) ซึ่งเป็นจุดพักสำหรับขบวนไดเมียว ซามูไร พ่อค้า และนักเดินทาง

ฮิเซนฮามาชูคุเป็นหนึ่งในเมืองพักแรมสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำฮามะ (Hamagawa) ที่เจริญรุ่งเรือง มีโรงน้ำชา โรงแรม และร้านค้าต่าง ๆ แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตสาเก เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าว น้ำบริสุทธิ์จากแม่น้ำฮามะและสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้สาเกที่ผลิตขึ้นในบริเวณนี้มีคุณภาพสูงเป็นที่เลื่องลือ

ในช่วงปลายยุคเอโดะ โรงสาเกในฮิเซนฮามาชูคุ มีมากถึง 13 แห่ง ทำให้ถนนสายนี้ได้รับการขนานนามว่า ถนนซาคาคุระ หรือ “ถนนโรงสาเก” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายสาเกที่สำคัญของภูมิภาคคิวชู ปัจจุบัน โรงสาเกเก่าแก่ยังคงหลงเหลืออยู่ 3 แห่ง ได้แก่ Fukuchiyo Shuzo (ผู้ผลิต Nabeshima Daiginjo สาเกที่ได้รับรางวัล “สาเกที่ดีที่สุดในโลก” จาก International Wine Challenge ปี 2011) Mitsutake Shuzo และ Minematsu Shuzo

อาคารกำแพงสีขาวแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นโรงสาเกและบ้านพ่อค้าในอดีต ได้รับการอนุรักษ์และนำมาใช้เป็น ร้านจำหน่ายสาเก คาเฟ่ และบาร์ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสรสชาติของสาเกท้องถิ่นและเรียนรู้เรื่องราวของอุตสาหกรรมนี้ ในปัจจุบันถนนซาคาคุระไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางของ เทศกาลเกี่ยวกับสาเก ที่สำคัญหลายงาน ได้แก่
1. “Sake Brewery Tourism” – จัดขึ้นทุกฤดูใบไม้ผลิ โดยเปิดให้โรงสาเกทั้ง 6 แห่งของเมือง Kashima ต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เทศกาลดอกไม้และสาเก, เทศกาลหมักดอง (Kashima Fermentation Festival) และ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ Yutoku Monmae งานนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 80,000 คน ต่อปี

2. “Hizen Hamashuku Autumn Sake Festival” – จัดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นงานที่นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับการชิมสาเก อาหารท้องถิ่น และการแสดงวัฒนธรรม นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางมายังสถานีฮิเซนฮามะ (Hizen-Hama Station) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ยังคงความดั้งเดิมและเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสำรวจย่านถนนซาคาคุระโดยใช้เวลาเดินเพียง 6 นาที

แม้ว่าเส้นทางของขบวนไดเมียวจะเหลือเพียงตำนาน แต่ถนนซาคาคุระยังคงเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ยังมีชีวิต เสน่ห์ของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ผสานกับกลิ่นหอมของสาเกที่ยังคงถูกหมักบ่มอย่างพิถีพิถัน ทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่หลงใหลในประวัติศาสตร์ ศิลปะ และรสชาติของสาเกญี่ปุ่น

** ส่วนหนึ่งของโครงการ “ Training Program on Comprehensive Design for Sustainable Preservation and Utilization of Disaster-Resilient Historic Townscapes” ระหว่างวันที่ 4–10 มีนาคม พ.ศ.2568 ณ ชุมชนฮิเซ็นฮามะชุกุ เมืองคาชิมะ จังหวัดซากะด้วยความร่วมมือระหว่าง Saga University, Cartage University, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, Eindhoven University of Technology ได้รับทุนเต็มจำนวนจำนวนจาก JST และ KUSCI สำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ