Sakura Science 2025 Workshop on “Training Program on Comprehensive Design for Design for Sustainable Preservation and Utilization of Disaster – Resilient Historic Townscapes”
ภันตรา อำพัน
SAKURA SCIENCE 2025 WORKSHOP on “Training Program on Comprehensive Design for Design for Sustainable Preservation and Utilization of Disaster – Resilient Historic Townscapes” ถูกจัดขึ้นเพื่อศึกษาแนวทาง การอนุรักษ์อาคารเก่าและภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ทีมีการคำนึงถึงภัยพิบัติ โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ปรับปรุงและฟื้นฟูอาคารเก่า ให้ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิม เรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนการใช้งานอาคารเดิม (Adaptive Reuse) หรือการนำอาคารเก่ามาใช้ประโยชน์ใหม่ การใช้พื้นที่ร้างให้เกิดประโยชน์ และการออกแบบเมืองให้รองรับภัยพิบัติ คิดค้นแนวทางที่ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้ การพัฒนาเมืองโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยเวิร์กชอปนี้จัดขึ้นที่ย่านฮิเซนฮามาชูคุ (Hizenhama-shuku) เมืองคาชิมะ จังหวัดซากะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมแต่กำลังประสบปัญหาทางด้านการอนุรักษ์และการพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 4-10 มีนาคม พ.ศ. 2568

โครงการเวิร์กชอปนี้มีผู้เข้าร่วมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยคาธาจจากประเทศตูนิเซีย, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, Eindhoven University of Technology จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และ มหาวิทยาลับซากะจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งย่านฮิเซนฮามาชูคุเป็นหนึ่งในเขตอนุรักษ์กลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่น มีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่เคยเป็นเมืองของโรงผลิตสาเก ซึ่งหลายแห่งในปัจจุบัน ถูกปรับใช้เป็นร้านอาหารและพิพิธภัณฑ์โดยมีการฟื้นฟูและพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย และยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของพื้นที่ไว้ โดยกิจกรรมหลักของ เวิร์กชอปมีการให้ผู้เข้าร่วม ได้สำรวจพื้นที่จริงและวิเคราะห์รูปแบบการก่อสร้างแบบดั้งเดิม พัฒนาแนวคิดและออกแบบแผนอนุรักษ์ และนำเสนอผลงานต่อ
ผู้เกี่ยวข้องภายในเวิร์กชอป และคนในชุมชน

บรรยายและทัศนศึกษาจาก ศ.ดร.Nobuo MISHIMA เกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์ของย่าน ฮิเซนฮามาชูคุ การให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชน การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ การซ่อมแซมอาคารเก่า และการนำอาคารเก่ามาใช้ประโยชน์ใหม่ มีการยกตัวอย่างเทศกาลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น Crucian Market Gion Festival และงานเทศกาลซากุระและเหล้าสาเก การยกตัวอย่างถึงการซ่อมแซมอาคารดั้งเดิมให้เหมาะกับการใช้สอยปัจจุบัน เช่น Hama Bar บาร์ใกล้สถานีรถไฟ ที่มีการใช้รูปลักษณ์ของหลังคาใหม่ที่สร้างขึ้นให้มีลักษณะคล้ายกับทรงหลังคาเดิม มีการใช้โทนสีที่เหมือนกับส่วนเดิมของสถานีรถไฟ ส่วนที่ต่อเติมใหม่มีการใช้โครงสร้างที่แยกออกมาจากโครงสร้างเดิม ที่จอดจักรยานสมัยใหม่ที่ทำให้มีความเข้ากันกับเมืองเก่าและการใช้งาน การฟื้นฟูแม่น้ำ Hama และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและสวนของชุมชน
โดยปัญหาของย่านฮิเซนฮามาชูคุ ที่ต้องเจอคือ ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (overtourism) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างชุมชน (gentrification) อัตราส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และจำนวนบ้านร้างที่มากขึ้น ทำให้เป็นที่มาของเป้าหมายหลักของโครงการนี้คือออกแบบการใช้พื้นที่ร้างให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึง “การท่องเที่ยว × การป้องกันภัยพิบัติ × ชีวิตของคนในชุมชน” โดยพื้นที่ที่ต้องศึกษาและออกแบบ คือ โกดังเก็บของ (Kura) ที่ว่างอยู่ และพื้นที่เปิดโล่งที่ใช้เป็นที่จอดรถ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนซาคะคุระ (Sakagura Street) เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของโรงผลิตสาเกคุเระทาเคะ (Kuretake Shuzo) ของตระกูลซุยโตะซึ่งปัจจุบันมีการวางแผนพัฒนาเพื่อนำพื้นที่ร้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยเน้นการออกแบบที่เชื่อมโยงกับบริบทของเมือง คำนึงถึงการท่องเที่ยว การป้องกันภัยพิบัติ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

บรรยายพิเศษจาก ศ.ดร.Osamu GOTO เกี่ยวกับทางด้านการอนุรักษ์อาคารดั้งเดิม ที่สามารถดำรงอยู่ได้ในยุคปัจจุบันโดยมีการคำนึงถึงในเรื่องภัยพิบัติ การเกิดแผ่นดินไหว มีการปรับปรุงอาคารอนุรักษ์โดยมีการเสริมโครงสร้างให้มีความแข็งแรง ทนต่อแผ่นดินไหวของอาคารในเขตอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมความแข็งแรงของผนัง มีการติดตั้งเครื่องตรวจจับควันบนหลังคา เพื่อป้องกันเหตุไฟไหม้ การฝึกอบรมให้เจ้าของอาคารที่เป็นผู้สูงอายุในการดับไฟเบื้องต้น และมีการยกตัวอย่างถึงวิธีการรับมือเหตุไฟไหม้ของย่านอื่น เช่น ย่านโอกิ (Ogi historic district) มีการกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของเมือง การปรับปรุงโครงสร้างอาคารใหม่โดยยังมีการอนุรักษ์การใช้งานของอาคารตามเดิมอยู่

ผศ.ดร.Naoki SAITO บรรยายถึงด้านการวางผังเมือง การปรับปรุงเมือง และการฟื้นฟูเมืองเก่า การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ร้างให้ตอบสนองต่อความต้องการของคนในชุมชน เรื่อง “Building Environments with Small Design” ซึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเมืองหรือสภาพแวดล้อมโดยใช้การออกแบบในองค์ประกอบเล็กๆ มีการยกตัวอย่างถึงหนังสือ “Emergent Tokyo: Designing the Spontaneous City” กล่าวถึงเมืองโตเกียวในลักษณะเมืองที่สามารถปรับตัวและพัฒนาได้อย่างยืดหยุ่น โดยเน้นเรื่องแนวทางการวางผังเมืองและการออกแบบที่เปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโตตามการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ และมีการยกตัวอย่างถึงงานวิจัยเรื่อง “The Clustering Arrangement of Permeable Public-Private Interfaces in Tokyo 23 Wards”ที่มีการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับรูปแบบของพื้นที่ที่เกิดการผสมผสานระหว่างสาธารณะและส่วนตัว เช่น พื้นที่ semi-public ในอาคาร ผลกระทบของการออกแบบพื้นที่แบบนี้ต่อสังคมและเมืองมีการกล่าวถึงนิทรรศการ Teire/Repair โดยมุ่งเน้นไปที่แนวคิดของการบำรุงรักษา (Teire) และการซ่อมแซม (Repair)
เวิร์กชอปนี้เป็นโครงการที่เน้นการอนุรักษ์อาคารเก่าและภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ที่ทนทานต่อภัยพิบัติ ในย่านฮิเซนฮามาชูคุโดยศึกษาวิธีปรับปรุงโกดังเก็บของและพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึง การท่องเที่ยว การป้องกันภัยพิบัติ และคุณภาพชีวิตของชุมชน ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้แนวทางการออกแบบที่รักษาเอกลักษณ์ของเมือง นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาการปรับใช้พื้นที่เมือง เช่น Shinjuku WHITEHOUSE และการวิเคราะห์พื้นที่สาธารณะในโตเกียว ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจแนวทางพัฒนาเมืองเก่าที่สมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ร่วมสมัย

ผลลัพท์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการโดยได้นำเสนอแนวคิดในการปรับปรุง 4 แนวคิด ได้แก่
– แนวคิดในการทำห้องสมุดและกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อให้สามารถจัดเป็นพื้นที่ ตลาด ขายของ ให้คนในชุมชนมามีส่วนร่วมกันได้
– แนวคิดต้องการทำให้พื้นที่นี้เป็นเหมือนพื้นที่นั่งเล่นของคนในชุมชนให้คนมามีกิจกรรมพูดคุยกันมีที่นั่งอ่านหนังสือ นั่งคุย นั่งเล่น และมีสนามเด็กเล่น
– พื้นที่เป็นลานกิจกรรมอเนกประสงค์ของชุมชน สนามเด็กเล่นเพื่อเด็ก คาเฟ่ ห้องสมุด ดึงกลุ่มวัยรุ่น
– การเอาจุดเด่นของโรงทำสาเกที่เป็นปล่องไฟ (chimney) มาทำการออกแบบใหม่ให้มีความสอดคล้องและสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยวย่านฮิเซนฮามาชูคุ
** ส่วนหนึ่งของโครงการ “Training Program on Comprehensive Design for Sustainable Preservation and Utilization of Disaster-Resilient Historic Townscapes” ระหว่างวันที่ 4–10 มีนาคม พ.ศ.2568 ณ ชุมชนฮิเซ็นฮามะชุกุ เมืองคาชิมะ จังหวัดซากะด้วยความร่วมมือระหว่าง Saga University, Cartage University, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, Eindhoven University of Technology ได้รับทุนเต็มจำนวนจำนวนจาก JST และ KUSCI สำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ